สาระสำคัญโครงงานคอมพิวเตอร์

สาระสำคัญโครงงานคอมพิวเตอร์💻

โครงงานคอมพิวเตอร์ คือ ผลงานที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าตามความสนใจ ความถนัดและความสามารถของผู้เรียน โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โครงงานจึงเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยผู้เรียนจะหาหัวข้อโครงงานที่ตนเองสนใจ รวมทั้งเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ และความรู้ด้าน คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างผลงานตามความต้องการได้อย่างเหมาะสม โดยมีครูเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำความสำคัญของโครงงานคอมพิวเตอร์

โครงงานคอมพิวเตอร์มีองค์ประกอบหลักดังต่อไปนี้

  •  เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์และเครื่องคอมพิวเตอร์
  •  นักเรียนเป็นผู้ริเริ่มและเลือกเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้า พัฒนาด้วยตนเองตามความสนใจและระดับความรู้ความสามารถ
  • นักเรียนเป็นผู้วางแผนในการศึกษา ค้นคว้า ตลอดจนการพัฒนาเก็บรวบรวมข้อมูลหรือประดิษฐ์คิดค้รวมทั้งการสรุปผล และการนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง โดยมีครูอาจารย์หรือผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ให้คำปรึกษา
             การทำโครงงานคอมพิวเตอร์มีขอบเขตกว้างขวางมาก ตั้งแต่เรื่องที่ง่าย ๆ ไปจนถึงเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนโครงงานคอมพิวเตอร์บางเรื่องอาจใช้เวลาสั้นในการพัฒนา จนถึงเรื่องที่ใช้เวลาเป็นภาคเรียนหรือปีการศึกษา โครงงานคอมพิวเตอร์บางเรื่องเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยจนถึงนับพันบาท นักเรียนจึงควรศึกษารายละเอียดและงบประมาณต่างๆ ของโครงงานก่อน จึงค่อยเลือกทำโครงงานที่เหมาะสมกับระดับความรู้ ความสามารถ และความสนใจของนักเรียน โดยทั่ว ๆ ไป การทำโครงงานคอมพิวเตอร์จัดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนรายวิชาคอมพิวเตอร์ทุกระดับการศึกษา โดยอาจจะทำเป็นกลุ่มหรือทำเป็นรายบุคคล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของนักเรียนแต่ละคนแต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ
            
            จุดมุ่งหมายสำคัญของการทำโครงงานคอมพิวเตอร์ไม่ได้อยู่ที่การส่งเข้าประกวดเพื่อรับรางวัล แต่เป็นโอกาสที่นักเรียนจะได้ประสบการณ์ตรงในการใช้ระบบคอมพิวเตอร์แก้ปัญหา ประดิษฐ์คิดค้นหรือค้นคว้าหาความรู้ต่าง ๆ ตลอดจนการแสดงผลงานของตนเองเพื่อให้นักเรียน ผู้ปกครองและผู้ที่สนใจในชุมชนเมื่อมีการจัดกิจกรรมของโรงเรียนหรืองานอื่นๆ

ประโยชน์ของการทำโครงงงานคอมพิวเตอร์


  1. ได้เรียนรู้แนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำโครงงาน
  2. ส่งเสริมกระบวนการคิด การแก้ปัญหา และการตัดสินใจ
  3. ได้รับประสบการณ์ในการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อแก้ปัญหา
  4. ส่งเสริมให้ใช้เวลาอย่างเปนประโยชน์และสร้างสรรค์


หลักการสำคัญของการเรียนรู้แบบโครงงาน

  1.  ต้องเกิดจากความอยากรู้ของผู้เรียน ผู้เรียนมีความสนใจหรือต้องการคำตอบในเรื่องนั้นๆ
  2.  ผู้เรียนเป็นผู้เลือกวิธีการเรียนและแหล่งการเรียนรู้
  3.  ผู้เรียนวางแผนปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ มีวัตถุประสงค์ชัดเจนและปฏิบัติตามขั้นตอน
  4.  มีการใช้กระบวนการต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้และผู้เรียนเป็นผู้สรุปองค์ความรู้
  5.  ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
  6.  ผู้เรียนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้อื่น
  7.  ต้องมีการนำเสนอเพื่อรายงานผลการศึกษาจากการทำโครงงาน
  8.  ต้องมีการประเมินผลเพื่อให้เกิดการพัฒนางาน

ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำโครงงาน

  1. ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงาน ประสานงาน การวางแผนการทำงาน
  2. ทำให้กล้าคิด กล้าแสดงออก ต่อที่ประชุมชนมากขึ้น
  3. ทำให้รู้จักหน้าที่ และมีความรับผิดชอบมากขึ้น
  4. ทำให้รู้จักการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ
  5. ทำให้รู้จักการเป็นผู้นำ และผู้ตามที่ดี
  6. ทำให้เกิดการพัฒนาความคิด และรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
  7. ทำให้รู้จักการแบ่งเวลา และการตรงต่อเวลา
  8. ทำให้รู้จักการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
  9. ทำให้รู้วิธีการทำงานต่าง ๆ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการทำงาน

คุณค่าของการทำโครงงานคอมพิวเตอร์

  1. สร้างความสำนึกและความรับผิดชอบในการศึกษาและพัฒนาระบบด้วยตนเอง
  2. เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาและแสดงความสามารถตามศักยภาพของตนเอง
  3. เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษา ค้นคว้า และเรียนรู้ในเรื่องที่นักเรียนสนใจได้ลึกซึ้งกว่าการเรียนในห้องตามปกติ
  4. ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการคิด การแก้ปัญหา การตัดสินใจ รวมทั้งการสื่อสารระหว่างกัน
  5. กระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียนวิชาสาขาคอมพิวเตอร์ และมีความสนใจที่จะประกอบอาชีพทางด้านนี้
  6. ส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้เวลาอย่างเป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรค์
  7. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูและชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนสนใจคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมากขึ้น
  8. เป็นการบูรณาการเอาความรู้จากวิชาต่าง ๆ ที่ได้รับมาจัดทำผสมผสานกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นโครงงานเพื่อนำเสนอต่อชุมชน

ตัวอย่างชื่อโครงงานประเภทต่างๆ

👉โครงงานพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา🔖

1. โปรแกรมดนตรีไทยแสนสนุก
2. โปรแกรมความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต
3. โปรแกรมฝึกอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษ
4.โปรแกรมสำนวนไทยพาสนุก
5.โปรแกรมสนุกไปกับตารางธาตุ
6.โปรแกรมเรียนรู้คณิตศาสตร์


👉โครงงานพัฒนาเครื่องมือ🔎

1. โปรแกรมการค้นหาคำภาษาไทย 
2. โปรแกรมอ่านอักษรไทย
3. โปรแกรมวาดภาพสามมิติ
4. โปรแกรมเข้าและถอดรหัสข้อมูล
5. โปรแกรมบีบอัดข้อมูล
6. โปรแกรมประมวลผลคำไทยบนระบบปฏิบัติการลีนุกซ์
7. โปรแกรมการออกแบบผังงาน
8. เครื่องช่วยคนพิการแขนอ่านหนังสือ
9. การส่งสัญญาณควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

👉โครงงานจำลองทฤษฎี📍

1. การทดลองปัจจัยต่างๆ ในการเลี้ยงปลานิลด้วยคอมพิวเตอร์
2. การทดลองปัจจัยต่างๆ ในการเพาะปลูกแก้วมังกรด้วยคอมพิวเตอร์
3. การทำนายอุณหภูมิจากข้อมูลที่ผ่านมา
4. การทดลองผสมสารเคมีต่างๆ ด้วยคอมพิวเตอร์
5. ปัจจัยต่างๆ กับการเคลื่อนที่ของเครื่องบิน
6. ผลการปลูกข้าวในสภาวะแวดล้อมที่ต่างกัน
7. การเปรียบเทียบเทคนิคของการย่อขนาดแฟ้มข้อมูล
8. โปรแกรมสังเคราะห์เสียงพูดเบื้องต้น

👉โครงงานประยุกต์ใช้งาน🚌

1.โปรแกรมระบบงานการกีฬา 
2.โปรแกรม สารบรรณสำเร็จรูป : Readymade Archivist
3.โปรแกรมระบบฐานข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้น
4.เครื่องป้องกันการขโมยรถจากโทรศัพท์มือถือ
5.เครื่องช่วยคนพิการแขนอ่านหนังสือ
6.เครื่องรดน้ำต้นไม้และให้อาหารปลาผ่านโทรศัพท์มือถือ
7.เครื่องให้อาหารไก่ไข่อัตโนมัติ
8.ระบบจองตั๋วรถไฟบนอินเทอร์เน็ต
9.ระบบบริหารจัดการข้อมูลผู้เรียนของโรงเรียน
10.ระบบจัดการข้อมูลการเงินส่วนบุคคล
11.ระบบแนะนำเส้นทางเดินรถประจำทาง
12.โปรแกรมสังเคราะห์เสียงสำหรับคนตาบอดบนรถประจำทาง
13.โปรแกรมออกและตรวจข้อสอบ
14.โฮมเพจส่วนบุคคล
15.โปรแกรมช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น
16.โปรแกรมพจนานุกรมไทย-อังกฤษ

👉โครงงานพัฒนาเกม🎡

1. เกมผจญภัยกับพระอภัยมณี
2. เกมอักษรเขาวงกต
3. เกมเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
4. เกมผจญภัยกับภาษาอังกฤษ
5. เกมหมากฮอส
6. เกมบวกลบเลขแสนสนุก 
7. เกมศึกรามเกียรติ์
8. เกมมวยไทย




การคัดเลือกหัวข้อโครงงานที่สนใจ

        โดยทั่วไปเรื่องที่จะนำมาพัฒนาเป็นโครงงานคอมพิวเตอร์ มักจะได้มาจากปัญหา คำถาม หรือความสนใจในเรื่องต่างๆ จากการสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ หรือสิ่งต่างๆ รอบตัว ปัญหาที่จะนำมาพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์ได้จากแหล่งต่างๆ กัน ดังนี้
1. การอ่านค้นคว้าจากหนังสือ เอกสาร หนังสือพิมพ์ หรือวารสารต่างๆ
2. การไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ
3. การฟังบรรยายทางวิชาการ รายการวิทยุและโทรทัศน์ รวมทั้งการสนทนาอภิปรายแลกเปลี่ยนความ
คิดเห็นระหว่างเพื่อนนักเรียนหรือกับบุคคลอื่นๆ
4. กิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียน
5. งานอดิเรกของนักเรียน
6. การเข้าชมงานนิทรรศการหรืองานประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์

ในการตัดสินใจเลือกหัวข้อที่จะนำมาพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์ ควรพิจารณาองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้

1. นักเรียนเป็นผู้เลือกอย่างมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ศึกษาค้นคว้าตามความถนัด และคำนึงความพร้อมความสนใจของตนเองหรือของกลุ่ม
2. เลือกโครงงานที่มีคุณค่าและเป็นปัญหาใหม่ๆตรงกับความสามารถและความรู้ของตนเอง
3. คำนึงถึงความเหมาะสมในเรื่อง ความปลอดภัย เวลา งบประมาณ และกำลังของตน
4. คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำโครงงาน
5. สามารถวางแผนการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆไว้ล่วงหน้า เห็นลู่ทางที่จะทำได้สำเร็จ
6. สามารถหาเครื่องมือหรือสร้างเครื่องมือที่มีคุณภาพเพื่อรวบรวมข้อมูลได้
7. มีความตั้งใจที่จะทำโครงงานให้ประสบผลสำเร็จ ได้ผลงานที่นำไปใช้ได้จริง
8. เป็นเรื่องที่มีอยู่จริงและเป็นไปได้ มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
9. นักเรียนมีประสบการณ์อยู่บ้างและเป็นเรื่องที่มีโอกาสได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
10. เป็นเรื่องที่เปิดโอกาสให้นักเรียนร่วมมือกันในการทำโครงงาน
11. เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวไม่กว้างเกินไป จนทำให้ไม่สามารถศึกษาลึกลงไปในรายละเอียดได้
12. เป็นเรื่องที่นักเรียนสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรมอื่นๆ
13. เป็นกิจกรรมการศึกษาที่ให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าปฏิบัติด้วยตนเองโดยอาศัยหลักวิชาการทางทฤษฎีตามเนื้อหาโครงงานนั้นๆหรือจากประสบการณ์และกิจกรรมต่างๆที่ได้พบเห็นมาแล้ว
14. เป็นโครงงานที่เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถของนักเรียนตามวัยและสติปัญญา รวมทั้ง
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้วย
15. นักเรียนเป็นผู้เสนอโครงงาน รายละเอียดของโครงงาน แผนปฏิบัติงาน และการแปลผลรายงานผล
ต่อครูที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานร่วมกันให้บรรลุตามจุดหมายที่กำหนดไว้

ศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและแหล่งข้อมูล

การศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและแหล่งข้อมูล ซึ่งรวมถึงการขอคำปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิจะช่วยให้
นักเรียนได้แนวคิดที่ใช้ในการกำหนดขอบเขตของเรื่องที่จะศึกษาได้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่จะศึกษาจนสามารถใช้ออกแบบและวางแผนดำเนินการทำโครงงานนั้นได้อย่างเหมาะสม ในการศึกษาจะต้องได้คำตอบว่า
1. จะทำอะไร
2. ทำไมต้องทำ
3. ต้องการให้เกิดอะไร
4. ทำอย่างไร
5. ใช้ทรัพยากรอะไร
6. ทำกับใคร
7. เสนอผลอย่างไร

เค้าโครงโครงงานคอมพิวเตอร์ 

คือ รายละเอียดเพื่อขอเสนอทำโครงงานคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้

  1. ชื่อโครงงาน ควรเขียนให้ตรงกับเรื่องที่จะทำเขียนให้สั้น กะทัดรัด ชัดเจน กระชับ ไม่ควรยาวเกินไปและใช้ข้อความที่มีความหมายเฉพาะเจาะจงว่าจะศึกษาอะไร ระบุให้ชัดเจน สื่อความหมาย ได้ใจความตรงกับเรื่อง ตรงกับงานที่นักเรียนกำลังศึกษา เมื่ออ่านชื่อเรื่องแล้ว สามารถบอกได้ว่า เรื่องนั้นมีลักษณะอย่างไร เป็นประโยคที่สมบูรณ์ มีประธาน กริยา กรรม และไม่ควรเป็นประโยคคำถาม เพราะไม่ใช่คำถามหรือปัญหา ชื่อควรเร้าความสนใจ แต่ต้องไม่ผิดเพี้ยนไปจากเนื้อเรื่องของโครงงาน
  2. ชื่อผู้ทำโครงงาน/คณะทำงาน (ระบุรายชื่อคณะนักเรียนที่ทำโครงงาน)
  3. ชื่อครูที่ปรึกษาโครงงาน (ระบุชื่อครูที่ให้คำแนะนำปรึกษา) อาจจะเป็นครูประจำรายวิชาหรือครูท่านอื่น หรือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำปรึกษาได้
  4. ที่มาและความสำคัญของโครงงาน การอธิบายถึงความสำคัญและเหตุผลในการเลือกพัฒนาโครงงานและประโยชน์ของโครงงาน ความเป็นมาเกี่ยวกับปัญหาที่สนใจจะศึกษานี้ว่ามีหลักการความเป็นมามีเหตุผลความจำเป็นอย่างไร แรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจ เหตุใดจึงได้เลือกทำโครงงานนี้ มีเหตุจูงใจอะไรที่ทำให้สนใจเป็นกรณีพิเศษ โครงงานนี้มีคุณค่า มีความสำคัญอย่างไร ประโยชน์ที่จะได้จากการจัดทำโครงงานนี้ ดีอย่างไร ทำไมจึงต้องทำมีข้อมูลเกี่ยวกับทฤษฎีหรือหลักวิชาการหรือตัวเลขสถิติที่มีความเกี่ยวข้องปรากฏเด่นชัดควรจัดระบบเพิ่มเติมลงไปด้วย เพื่อแสดงว่าโครงงานนี้มีความสำคัญ เป็นเรื่องใหม่หรือมีผู้อื่นได้ศึกษาค้นคว้าไว้บ้างแล้วเพื่อขยายปรับปรุงหรือทำซ้ำเพื่อตรวจสอบผล
  5. วัตถุประสงค์ เป็นการระบุความต้องการในการศึกษา ซึ่งอาจเขียนเป็นข้อๆ โดยเขียนให้ผู้อื่นทราบว่าเราจะทำการศึกษาอะไร อย่างไร แต่ไม่ใช่นำเอาประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำโครงงานมาเขียนเป็นจุดมุ่งหมาย ส่วนการระบุวัตถุประสงค์ของโครงงานนั้น จัดว่าเป็นการเขียนวัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า หรือเป็นวัตถุประสงค์ของการทดลอง วัตถุประสงค์ที่ดี ควรมีความเฉพาะเจาะจง เป็นสิ่งที่สามารถวัดได้ บอกขอบเขตของงานที่จะทำได้ชัดเจน และไม่เขียนอยู่ในรูปของประโยคคำถาม ที่สำคัญคือต้องสอดคล้องกับชื่อของโครงงาน
  6. ขอบเขตของโครงงาน ระบุว่าโครงงานที่ทำขึ้นนี้ศึกษาเรื่องเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรบ้าง และใช้โปรแกรมอะไรในการสร้างชิ้นงานโครงงาน
  7. แผนการดำเนินงาน ระบุขั้นตอนการดำเนินงาน ระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่วันที่เริ่มทำโครงงาน ระยะเวลาดำเนินงานแต่ละขั้นตอนการปฏิบัติ ค่าใช้จ่าย หรืออธิบายการเริ่มงาน การจัดทำ การจัดรูปแบบ ออกแบบ ทดลองอะไร เก็บข้อมูลอะไรบ้าง อย่างไรและเมื่อใด ขั้นตอนการดำเนินงานเป็นอย่างไร
  8. ผลที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการกล่าวถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำโครงงาน จะมีอะไรเกิดขึ้นมีปริมาณมากน้อยเพียงใด มีประสิทธิภาพหรือคุณภาพอย่างไร จะได้รับประโยชน์หลายลักษณะหรือลักษณะใดลักษณะหนึ่งจากการทำโครงงานครั้งนี้อย่างไร ทั้งกับตนเอง เพื่อนๆ และบุคคลทั่วไป
  9. อุปกรณ์และวิธีการดำเนินงาน ระบุว่าเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการพัฒนาโครงงานใช้ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ต่าง ๆมีอะไรบ้าง มีขนาดเท่าใด วัสดุอุปกรณ์มาจากไหน สิ่งใดที่ต้องซื้อและสิ่งใดที่ต้องขอยืม สิ่งที่ต้องจัดทำเองมีอะไรบ้าง

การปฏิบัติโครงงาน

          เมื่อเค้าโครงงานผ่านความเห็นชอบจากครูที่ปรึกษาโครงงานแล้ว ต่อไปก็เป็นขั้นลงมือปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่ระบุไว้ โดยปฏิบัติตามแผนการดำเนินงาน อาจเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมจากแผนงานที่วางไว้ในตอนแรกบ้างก็ได้ อยู่ภายใต้การดูแล กำกับ ติดตาม และแนะนำอย่างใกล้ชิดของครูที่ปรึกษา ควรปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงความปลอดภัย ในการทำงาน ตลอดจนคำนึงถึงสภาพแวดล้อม มีการบันทึกผลการปฏิบัติเป็นระยะๆ เพื่อรายงานความก้าวหน้าของโครงงาน
         การเตรียมการ ต้องเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และวัสดุอื่นๆ ที่จะใช้ในการพัฒนาให้พร้อมด้วยและควรเตรียมสมุดบันทึกหรือบันทึกเป็นแฟ้มข้อความไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับบันทึกการทำกิจกรรมต่างๆระหว่างทำโครงงาน ได้แก่ ได้ปฏิบัติอย่างไร ได้ผลอย่างไร มีปัญหาและแก้ไขได้หรือไม่อย่างไร รวมทั้งข้อสังเกตต่างๆที่พบการลงมือพัฒนา
        ปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้ในเค้าโครง แต่อาจเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมได้ถ้าพบว่าจะช่วยทำให้ผลงานดีขึ้น จัดระบบการทำงานโดยทำส่วนที่เป็นหลักสำคัญๆ ให้แล้วเสร็จก่อน จึงค่อยทำส่วนที่เป็นส่วนประกอบหรือส่วนเสริมเพื่อให้โครงงานมีความสมบูรณ์มากขึ้น และถ้ามีการแบ่งงานกันทำให้ตกลงรายละเอียดในการต่อเชื่อมชิ้นงานที่ชัดเจนด้วย พัฒนาระบบงานด้วยความละเอียดรอบคอบ และบันทึกข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบและครบถ้วน
        การตรวจสอบความถูกต้องของผลงานเป็นความจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าผลงานที่พัฒนาขึ้นทำงานได้ถูกต้องตรงกับความต้องการที่ระบุไว้ในเป้าหมายและทำด้วยประสิทธิภาพสูงด้วย

ขั้นตอนการดำเนินงาน

1. เตรียมวัสดุอุปกรณ์และสถานที่ให้พร้อมก่อนลงมือปฏิบัติ
2. มีสมุดบันทึกกิจกรรมประจำวันว่าได้ทำอะไรไป ได้ผลอย่างไร มีปัญหาและข้อคิดเห็นอย่างไร
3. ปฏิบัติกิจกรรมด้วยความรอบคอบ และบันทึกข้อมูลไว้ให้เป็นระเบียบและครบถ้วน
4. คำนึงถึงความประหยัดและความปลอดภัยในการทำงาน
5. พยายามทำตามแผนงานที่วางไว้ในตอนแรก แต่อาจเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมบ้างหลังจากที่ได้เริ่มต้นทำงานไปแล้วถ้าคิดว่าจะทำให้ผลดีขึ้น
6. ควรแบ่งงานเป็นส่วนย่อยๆและทำแต่ละส่วนให้สำเร็จ ก่อนทำส่วนอื่นต่อไป
7. ควรทำงานส่วนที่เป็นหลักสำคัญๆให้เสร็จ จึงทำส่วนที่เป็นส่วนประกอบ หรือส่วนเสริมเพื่อตกแต่ง
8. อย่าทำงานต่อเนื่องจนเมื่อยล้า จะทำให้ขาดความระมัดระวัง
9. อย่าทำโครงงานใกล้ถึงวันกำหนดส่ง ควรวางแผนการทำงานล่วงหน้าให้เป็นระบบ

การเขียนรายงาน

การเขียนรายงานเป็นการอธิบาย และ บอกรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำโครงงาน สื่อความหมายเพื่อให้ผู้อื่นได้เข้าใจแนวคิด วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า ข้อมูลที่ได้ ตลอดจนข้อสรุปและข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับโครงงานนั้น ในการเขียนรายงาน ควรใช้ภาษาที่อ่านง่าย ชัดเจน กระชับ และตรงไปตรงมา ให้ครอบคลุมหัวข้อต่างๆเหล่านี้
1. ชื่อโครงงาน
2. ชื่อผู้ทำโครงงาน
3. ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา
4. บทคัดย่อ อธิบายถึงที่มา ความสำคัญ วัตถุประสงค์ วิธีดำเนินการ และผลที่ได้ โดยย่อ
5. กิตติกรรมประกาศ คำขอบคุณ เป็นคำกล่าวขอบคุณบุคคลหรือหน่วยงาน ที่มีส่วนช่วยทำให้โครงงานสำเร็จ
6.สารบัญ
     6.1 สารบัญตาราง (ถ้ามี)
     6.2 สารบัญภาพ (ถ้ามี)

บทที่ 1 บทนำ

1. ที่มาและความสำคัญของโครงงาน เขียนอธิบายถึงความเป็นมาเกี่ยวกับปัญหาที่สนใจจะศึกษานี้ว่ามีหลักการความเป็นมา มีเหตุผลความจำเป็นอย่างไร แรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจ เหตุใดจึงได้เลือกทำโครงงานนี้ มีเหตุจูงใจอะไรที่ทำให้สนใจเป็นกรณีพิเศษ โครงงานนี้มีคุณค่า มีความสำคัญอย่างไร ประโยชน์ที่จะได้จากการจัดทำโครงงานนี้ ดีอย่างไร ทำไมจึงต้องทำ มีข้อมูลเกี่ยวกับทฤษฎีหรือหลักวิชาการหรือตัวเลขสถิติที่มีความเกี่ยวข้องปรากฏเด่นชัด ควรจัดระบบเพิ่มเติมลงไปด้วย เพื่อแสดงว่าโครงงานนี้มีความสำคัญ เป็นเรื่องใหม่หรือมีผู้อื่นได้ศึกษาค้นคว้าไว้บ้างแล้วเพื่อขยายปรับปรุงหรือทำซ้ำเพื่อตรวจสอบผล
2. วัตถุประสงค์ของโครงงาน เป็นการระบุความต้องการในการศึกษา ซึ่งอาจเขียนเป็นข้อๆ โดยเขียนให้ผู้อื่นทราบว่าเราจะทำการศึกษาอะไร อย่างไร แต่ไม่ใช่นำเอาประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำโครงงานมาเขียนเป็นจุดมุ่งหมาย ส่วนการระบุวัตถุประสงค์ของโครงงานนั้น จัดว่าเป็นการเขียนวัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า หรือเป็นวัตถุประสงค์ของการทดลอง วัตถุประสงค์ที่ดี ควรมีความเฉพาะเจาะจง เป็นสิ่งที่สามารถวัดได้ บอกขอบเขตของงานที่จะทำได้ชัดเจน และไม่เขียนอยู่ในรูปของประโยคคำถาม ที่สำคัญคือต้องสอดคล้องกับชื่อของโครงงาน
3. ขอบเขตของโครงงาน ระบุว่าโครงงานที่ทำขึ้นนี้ศึกษาเรื่องเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรบ้าง และใช้โปรแกรมอะไรในการสร้างชิ้นงานโครงงาน
4. ผลที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการกล่าวถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำโครงงาน จะมีอะไรเกิดขึ้น
มีปริมาณมากน้อยเพียงใด มีประสิทธิภาพหรือคุณภาพอย่างไร จะได้รับประโยชน์หลายลักษณะหรือลักษณะใดลักษณะหนึ่งจากการทำโครงงานครั้งนี้อย่างไร ทั้งกับตนเอง เพื่อนๆ และบุคคลทั่วไป

บทที่ 2 เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาหาข้อมูลหรือหลักการทฤษฎี หรือวิธีการที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาโครงงาน ซึ่งรวมถึงการระบุผลงานของผู้อื่นที่นักเรียนนำมาเปรียบเทียบหรือพัฒนาเพิ่มเติมด้วย

บทที่ 3 อุปกรณ์และวิธีการดำเนินงาน

ระบุขั้นตอนการดำเนินงานสำคัญๆ ตั้งแต่วันที่เริ่มทำโครงงาน ระยะเวลาดำเนินงานแต่ละขั้นตอนการ
ปฏิบัติ ค่าใช้จ่าย หรืออธิบายการเริ่มงาน การจัดทำการจัดรูปแบบ ออกแบบ ทดลองอะไร วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล เก็บข้อมูลอะไรบ้าง อย่างไรและเมื่อใด อุปกรณ์ที่ใช้ในการพัฒนาโครงงาน

บทที่ 4 ผลการดำเนินงาน

ระบุผลที่ได้จากการศึกษา พัฒนาโครงงาน เขียนตามวัตถุประสงค์ของโครงงาน นำเสนอข้อมูลที่พัฒนาได้โดยอาจแสดงเป็นตาราง หรือ กราฟ หรือข้อความ ภาพตัวอย่างผลงาน

บทที่ 5 สรุปผลการดำเนินงาน / อภิปรายผลการดำเนินงาน /ข้อเสนอแนะ

เมื่อได้ผลงานที่พัฒนาเรียบร้อยแล้ว ให้จัดทำสรุปผลการดำเนินงานด้วยข้อความที่สั้นกะทัดรัด แต่
ครอบคลุมกระบวนการขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมด ทำให้ผู้อ่านรายงานเข้าใจสิ่งที่ค้นพบจากการทำโครงงานได้ชัดเจน พร้อมกับอภิปรายผลเพื่อนำผลที่ได้รับจากการพัฒนาโครงงานหาความสัมพันธ์กับหลักการทฤษฎีพร้อมทั้งระบุข้อเสนอแนะสิ่งที่ควรจะศึกษาหรือแนวทางการพัฒนาโครงงานให้เกิดประโยชน์ในอนาคตต่อไป

บรรณานุกรม

บรรณานุกรม รวบรวมรายชื่อหนังสือ วารสาร เอกสาร หรือเว็บไซด์ต่างๆ ที่ผู้ทำโครงงานใช้ค้นคว้า หรือ
อ่านเพื่อศึกษาข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ที่นำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาโครงงานนี้การเขียนเอกสารบรรณานุกรมต้องให้ถูกต้องตามหลักการเขียนด้วย

ภาคผนวก

          ส่วนประกอบที่เขียนเพิ่มเติมในตอนท้าย เพื่อช่วยให้เห็นความสมบูรณ์ในข้อมูลเนื้อหา กระบวนการดำเนินงานและผลของการวิจัย อาจประกอบด้วย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ ผลการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติที่เกี่ยวข้องอื่น นอกเหนือจากส่วนที่จัดไว้ในเนื้อหา สำเนาเอกสารหายาก โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ นอกจากนี้อาจมีรายละเอียดอื่นๆ เช่น คำอธิบายเกี่ยวกับขั้นตอน หรือวิธีทำภาพประกอบ การสร้างเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทดลอง ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นหรือสร้างขึ้นในโครงงานนั้นๆ
          สำหรับกรณีมีภาคผนวกหลายภาค ให้จัดเป็นภาคผนวก ก ภาคผนวก ข และภาคผนวก ค ตามลำดับ และให้ขึ้นหน้าใหม่เมื่อขึ้นภาคผนวกใหม่ และพิมพ์หน้าบอกตอนสำหรับภาคผนวกนั้นๆ ด้วย

การแสดงผลงาน

เป็นการนำเสนอผลงาน สามารถจัดได้หลายรูปแบบ เช่น การจัดนิทรรศการ หรือทำเป็นสิ่งพิมพ์ การสอนแบบเพื่อนสอนเพื่อน ตามความเหมาะสมของโครงงาน

การนำเสนอและแสดงโครงงาน

การนำเสนอและการแสดงผลงานเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งของการทำโครงงาน เพื่อแสดงออกถึงผลิตผลความคิด ความพยายามในการทำงานที่ผู้ทำโครงงานได้ทุ่มเทและเป็นวิธีทำให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจถึงผลงานนั้นการเสนอผลงานอาจทำได้ในหลายรูปแบบต่างๆ กัน เช่น การแสดงผลงานโดยไม่มีการอธิบาย ประกอบการรายงานด้วยคำพูดในที่ประชุมการจัดนิทรรศการโดยโปสเตอร์และอธิบายด้วยคำพูด เป็นต้น โดยผลงานที่นำมาเสนอหรือจัดแสดงควรประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
1. ชื่อโครงงาน
2. ชื่อผู้จัดทำโครงงาน
3. คำอธิบายถึงที่มาและความสำคัญของโครงงาน
4. วิธีการดำเนินการที่สำคัญ
5. การสาธิตผลงาน
6. ผลการสังเกตและข้อสรุปสำคัญที่ได้จากการทำโครงงาน








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โครงงานคอมพิวเตอร์ประเภทสื่อเพื่อการศึกษา

โลกและการเปลี่ยนแปลง